หน้าแรก  »  บทความสุขภาพ  »  เช็กอาการโรคกระดูกคอเสื่อม รู้ก่อนป้องกันรักษาได้

เช็กอาการโรคกระดูกคอเสื่อม รู้ก่อนป้องกันรักษาได้

เช็กอาการโรคกระดูกคอเสื่อม รู้ก่อนป้องกันรักษาได้

โรคกระดูกคอเสื่อมแม้มักถูกมองว่าเป็นโรคของผู้สูงอายุ แต่ด้วยปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน เช่น การก้มเล่นมือถือหรือการนั่งจ้องคอมนานๆ ผู้ที่มีอายุน้อยจึงมีแนวโน้มเป็นโรคนี้กันเพิ่มขึ้น เพื่อให้ทุกท่านสามารถรู้ตัวและรับมือกับโรคได้ถูก ทางเอินเวย์ก็ได้นำข้อมูลอาการ วิธีป้องกันและรักษา ตลอดจนข้อมูลที่สำคัญอื่นๆ มาให้ชมกันในบทความนี้แล้วค่ะ

โรคกระดูกคอเสื่อมคืออะไร

โรคกระดูกคอเสื่อม (Cervical Spondylosis) คือสภาวะที่กระดูกคอชำรุดสึกหรอ ซึ่งจะมีปัจจัยหลักมาจากความเสื่อมตามอายุ แต่ก็อาจมีปัจจัยเร่งอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น อิริยาบถที่ไม่ดี การบาดเจ็บที่คอ เป็นต้น

โดยทั่วไปแล้ว โรคกระดูกคอเสื่อมจะเริ่มพบได้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป และจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยมีงานศึกษาบางชิ้นบ่งชี้ว่า ประมาณ 9 ใน 10 ของผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จะพบกระดูกคอเสื่อม แม้ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแสดงรุนแรงก็ตาม

ในบางราย โรคกระดูกคอเสื่อมอาจนำไปสู่โรคหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท (Cervical Radiculopathy) หรือโรคหมอนรองกระดูกคอกดทับไขสันหลัง (Cervical Myelopathy) ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการผิดปกติเพิ่มเติม เช่น ชา อ่อนแรง ปวดร้าวลามไปจุดอื่น เป็นต้น

อาการของโรคกระดูกคอเสื่อม

ตัวอย่างอาการผิดปกติที่เกิดจากโรคกระดูกคอเสื่อมก็อย่างเช่น

  • ปวดต้นคอ บ่า ไหล่ ท้ายทอย
  • ขยับคอลำบาก
  • เวียนหัว
  • ปวดหัว

ผู้ที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาทก็อาจเกิดอาการผิดปกติอื่นเพิ่มเติม เช่น

  • ปวดร้าวลงแขน
  • ไหล่ชา แขนชา มือชา
  • แขนอ่อนแรง

ส่วนในผู้ที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกคอกดทับไขสันหลังก็อาจเกิดอาการผิดปกติอื่นเพิ่มเติม เช่น

  • ปวดร้าวลงแขนหรือขา
  • ไหล่ชา แขนชา มือชา หรือขาชา
  • แขนหรือขาอ่อนแรง
  • ทรงตัวลำบาก
  • เดินลำบาก
  • มีปัญหาควบคุมการขับถ่าย
YouTube player

โรคกระดูกคอเสื่อมเกิดจากอะไร

โรคกระดูกคอเสื่อมมีสาเหตุหลักมาจากความเสื่อมตามวัย ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น

  • การสูบบุหรี่ งานวิจัยปัจจุบันพบว่าการสูบบุหรี่อาจทำให้เสี่ยงเกิดโรคกระดูกคอเสื่อมมากขึ้น เนื่องด้วยผลของสารพิษในควันบุหรี่ที่เข้าไปทำร้ายหมอนรองกระดูก
  • อิริยาบถที่ไม่เหมาะสม เช่น ก้มหน้าเล่นมือถือนานๆ นั่งจ้องคอมนานๆ ยกของหนักในท่าที่กระทบต่อคอ ฯลฯ
  • การบาดเจ็บที่คอ ผู้ที่เกิดการบาดเจ็บที่คอจากอุบัติเหตุต่างๆ จะมีโอกาสเกิดโรคกระดูกคอเสื่อมมากขึ้น
  • ญาติสายตรงเป็นโรคกระดูกคอเสื่อม พันธุกรรมก็อาจมีส่วนทำให้เสี่ยงเกิดโรคกระดูกคอเสื่อมมากขึ้นได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ด้วยพฤติกรรมการก้มหน้าเล่นมือถือและนั่งจ้องคอมนานๆ ที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันโรคกระดูกคอเสื่อมจึงมีแนวโน้มพบได้ในผู้ที่มีอายุน้อยมากกว่าแต่ก่อน

โรคกระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม

ในคนส่วนใหญ่ โรคกระดูกคอเสื่อมจะไม่ได้มีอาการแสดงรุนแรง และสามารถรักษาให้บรรเทาลงได้โดยไม่ต้องพึ่งการผ่าตัด

ในบางราย โรคกระดูกคอเสื่อมอาจนำไปสู่โรคหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาทหรือโรคหมอนรองกระดูกคอกดทับไขสันหลัง ซึ่งจะมีอาการรุนแรงกว่า และสามารถก่อให้เกิดความเสียหายถาวรต่อระบบประสาทได้ แม้จะมีโอกาสน้อยก็ตาม

เพื่อช่วยลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ผู้ที่เป็นโรคกระดูกคอเสื่อมก็ควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ โดยเฉพาะอาการที่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาท เช่น ชา อ่อนแรง ปวดร้าวลามไปจุดอื่น เป็นต้น และควรเข้ารับการตรวจและรักษาจากแพทย์เมื่อมีสัญญาณอันตรายแต่เนิ่นๆ

วิธีป้องกันโรคกระดูกคอเสื่อม

แม้โรคกระดูกคอเสื่อมจะเป็นความเสื่อมตามวัยที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่การใส่ใจควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ก็อาจช่วยชะลอการเกิดโรคและช่วยลดโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่อาการรุนแรง ตัวอย่างเช่น

  • งดสูบบุหรี่ เพื่อไม่ให้สารพิษในควันบุหรี่เข้าไปทำร้ายหมอนรองกระดูก
  • เลี่ยงอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม เช่น ก้มหน้าเล่นมือถือนานๆ นั่งจ้องคอมนานๆ เป็นต้น พยายามปรับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ให้เหมาะสม เลี่ยงการก้มหน้าเกินพอดีบ่อยๆ และเลี่ยงการอยู่ในอิริยาบถเดิมนานๆ
  • เลี่ยงการบาดเจ็บที่คอ อาจทำได้โดยการหมั่นยืดเหยียดกล้ามเนื้อคอ สวมใส่อุปกรณ์กีฬาที่เหมาะสมเมื่อเล่นกีฬา และเลี่ยงกิจกรรมอันตราย

โรคกระดูกคอเสื่อมรักษาหายไหม

โรคกระดูกคอเสื่อมแม้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็สามารถรักษาเพื่อขจัดหรือบรรเทาอาการ รวมถึงช่วยป้องกันหรือชะลอไม่ให้โรคแย่ลงกว่าเดิม

วิธีรักษาโรคกระดูกคอเสื่อม

การรักษาโรคกระดูกคอเสื่อม แพทย์จะประเมินถึงความเหมาะสมของแต่ละคน ซึ่งแนวทางที่ใช้ก็อาจประกอบไปด้วย

  • การใช้ยา เช่น ยาแก้อักเสบ ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ฯลฯ
  • กายภาพบำบัด โดยจะเน้นไปที่การยืดเหยียดและการเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณคอ
  • การประคบเย็นหรือร้อน เพื่อลดการอักเสบและช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณคอ
  • การใช้ปลอกคอ เพื่อช่วยพยุงและลดการเคลื่อนไหวของคอ ซึ่งจะมีผลช่วยลดอาการปวดและลดโอกาสบาดเจ็บเพิ่มเติม แต่ส่วนใหญ่จะใช้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากการใช้เป็นระยะเวลานานอาจทำให้กล้ามเนื้อคออ่อนแอลง
  • การฉีดยา เช่น ยาสเตียรอยด์และยาแก้ปวด เพื่อช่วยบรรเทาอาการอักเสบและอาการปวด
  • การผ่าตัด ในบางรายที่มีการกดทับของเส้นประสาทหรือไขสันหลังจนมีอาการรุนแรง การผ่าตัดก็อาจเป็นทางเลือกการรักษาที่เหมาะสมกว่าวิธีอื่นๆ

โรคกระดูกคอเสื่อมในทัศนะการแพทย์จีน

ในทัศนะการแพทย์จีน โรคกระดูกคอเสื่อมจะจัดอยู่ในกลุ่มโรคชาและปวดเมื่อยอันเนื่องมาจากเส้นลมปราณติดขัด ทำให้เลือดไหลเวียนช้าลง ส่งผลให้เกิดภาวะเลือดคั่งไปกีดขวางจนเกิดอาการปวดต้นคอรวมถึงอาการผิดปกติอื่นๆ บริเวณคอ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการวินิจฉัยและรักษาอันสำคัญของการแพทย์จีนที่ว่า “ปวดแสดงว่าไม่โล่ง โล่งแล้วก็จะไม่ปวด” ( 通則不痛,痛則不通 )

สำหรับการดูแลรักษานั้น การแพทย์จีนก็จะนิยมใช้ตำรับยาสมุนไพรจีนสกัดที่มีหลักการออกฤทธิ์ดังนี้

  • ทะลวงเส้นเลือดและเส้นลมปราณบริเวณคอ บ่า ไหล่ ให้โล่งสะอาด
  • สลายภาวะเลือดคั่ง ช่วยให้เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ และกระดูกคอ ได้รับเลือดไปหล่อเลี้ยงอย่างเพียงพอ
  • ขจัดพิษลม พิษเย็น และพิษชื้น ที่สะสมอยู่ตามบริเวณคอ บ่า ไหล่ ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของอาการปวดเมื่อยต้นคอ บ่า ไหล่ และท้ายทอย
  • ผลักดันการไหลเวียนของเลือด ช่วยให้เลือดขึ้นไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น อาการเวียนหัวปวดหัวจึงทุเลาลง
  • เสริมสร้างพลังลมปราณเพื่อลดภาวะเส้นลมปราณติดขัด

ท่านที่สนใจดูแลปัญหากระดูกคอเสื่อมตามทัศนะการแพทย์จีน ก็สามารถรับคำปรึกษาจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญจากเอินเวย์ได้โดยตรงที่เบอร์ 02-751-4399 หรือไอดีไลน์ @enwei

จบแล้วกับข้อมูลอาการ วิธีป้องกัน และวิธีรักษาสำหรับโรคกระดูกคอเสื่อม พร้อมด้วยข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทางเอินเวย์หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านนะคะ

เอินเวย์ ศูนย์รวมยาสมุนไพรจีนระดับพรีเมี่ยมจากประเทศจีน ซึ่งอยู่เคียงข้างสังคมไทยมานานกว่า 30 ปี ขอเป็นอีกหนึ่งทางเลือกธรรมชาติในการดูแลสุขภาพตามศาสตร์การแพทย์จีน เพื่อให้ทุกท่านได้มีสุขภาพที่ดี

ปรึกษาแพทย์จีน
ปรึกษาแพทย์จีน
Scroll to Top