อาการปวดไหล่ ไหล่ติด เป็นอาการที่พบได้บ่อยในวัยกลางคน เพราะโครงสร้างของข้อไหล่มีความซับซ้อน และเราใช้ข้อไหล่ในการทำกิจกรรมต่างๆ มากมายทุกวัน
รูปแบบโครงสร้างของข้อไหล่ช่วยให้เราสามารถเกาหลังตัวเองได้ เอื้อมมือไปหยิบของที่สูงได้ หรือช่วยให้สามารถขว้างลูกบอลไปได้ไกลๆ เพราะเราต้องใช้แขนในการทำกิจกรรมต่างๆ ตลอดเวลา อะไรก็ตามที่ทำให้เราไม่สามารถเคลื่อนไหวแขนได้เต็มที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างมาก
ข้อไหล่ติดทำให้มีการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ได้ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดอาการปวดและตึงในข้อไหล่เมื่อเวลาขยับ นานๆ ไปอาจทำให้ไม่สามารถขยับข้อไหล่ได้เลย
สาเหตุของข้อไหล่ติด
ข้อไหล่ติดเกิดจากการที่ถุงหุ้มข้อไหล่ ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่หุ้มข้อไหล่เอาไว้มีการอักเสบ ยึดติด และมีการสร้างแถบเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ ทำให้ข้อไหล่ขยับได้น้อยลง ส่งผลให้เกิดอาการปวด แต่ส่วนใหญ่แล้ว การติดของข้อไหล่มักจะมีสาเหตุจากภายในข้อไหล่ เช่น เอ็นฉีกขาด กระดูกงอกภายในข้อไหล่ เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงข้อไหล่ติด
- อายุ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 40-60 ปีมีโอกาสเป็นโรคนี้สูงกว่าคนวัยอื่น โดยทั่วไปพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า และมักจะเป็นกับแขนข้างที่ไม่ถนัดมากกว่าข้างที่ถนัด
- การเคลื่อนไหวของข้อไหล่ได้น้อยลง หากเกิดอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บจนไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้ระยะเวลาหนึ่ง มักพบว่าจะเกิดข้อไหล่ติดตามมา
- โรคเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานจะมีอัตราการป่วยด้วยโรคนี้สูงกว่าคนปกติ
- โรคอื่นๆ พบว่าโรคบางอย่างสัมพันธ์ต่อการเกิดข้อไหล่ติด เช่น โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ โรคหัวใจ เป็นต้น
แบบไหนเรียกว่าไหล่ติด
เมื่อคุณมีการเคลื่อนไหวในท่าดังต่อไปนี้แล้วรู้สึกเจ็บ
- กางแขนออกด้านข้าง แล้วหงายฝ่ามือขึ้น
- เหยียดแขนขึ้นไปหยิบของเหนือศีรษะ
- เอื้อมมือไปหยิบของซึ่งวางบนเบาะหลังของรถ
- ดันประตูหนักๆ ให้เปิดออก
- การขับรถในคนไหล่ติด จะลำบากในการหมุนพวงมาลัยรถ
- เมื่อสระผมตัวเอง
- เมื่อถูหลังตัวเอง
- เมื่อสวมหรือถอดเสื้อยืด เข้าออกทางศีรษะ
- เมื่อติดกระดุมเม็ดล่างด้านหน้าของเสื้อเชิ้ต
- เมื่อล้วงของออกจากกระเป๋าหลังของกางเกง
- เมื่อติดตะขอเสื้อใน
การบำบัดอาการปวดไหล่และข้อไหล่ติดของการแพทย์จีน
ในทัศนะการแพทย์จีนอาการปวดไหล่และไหล่ติด เกิดจากพิษของลมและเย็นชื้นแทรกเข้าไปบริเวณข้อไหล่ ทำให้หลอดเลือดและเส้นลมปราณบริเวณไหล่ติดขัด ส่งผลให้เส้นเอ็น กล้ามเนื้อและข้อต่อไหล่ ได้รับการหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ พร้อมทั้งไม่สามารถขับของเสียและสารพิษต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเมตาบอลิซึม ออกไปได้หมดสิ้น จึงส่งผลให้เกิดอาการปวดบวมบริเวณข้อไหล่ ทำให้ข้อไหล่เคลื่อนไหวได้ไม่เต็มที่
การแพทย์จีนจึงนิยมใช้ยาสมุนไพรที่อยู่ในรูปแบบของสารสกัด เพื่อบำบัดอาการข้อติด ข้อบวม ข้อแข็ง ปวดข้อ ไหล่ติดและปวดไหล่ โดยมีกลไกในการออกฤทธิ์ดังนี้
- กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต
- ขับพิษลมและเย็นชื้นออกจากร่างกาย
- สลายเลือดที่คั่งอยู่บริเวณข้อไหล่
อาการปวดไหล่และข้อไหล่ติดก็จะค่อยๆ ทุเลาลงและหายไปในที่สุด