หน้าแรก  »  บทความสุขภาพ  »  โรคเกาต์เกิดจากอะไร มีวิธีรักษาแบบแพทย์จีนอย่างไร

โรคเกาต์เกิดจากอะไร มีวิธีรักษาแบบแพทย์จีนอย่างไร

โรคเกาต์เกิดจากอะไร มีวิธีรักษาแบบแพทย์จีนอย่างไร

โรคเกาต์เกิดจากสาเหตุอะไร

โรคเกาต์เกิดจากร่างกายมีกรดยูริกมากเกินไป กรดยูริกเป็นสารที่เกิดจากการเผาผลาญของเพียวรีน ซึ่งมีมากในเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ถั่วต่างๆ และพืชผักอ่อน รวมทั้งเกิดจากการสลายตัวของเซลล์ภายในร่างกาย กรดยูริกจะถูกขับออกทางปัสสาวะ หากร่างกายสร้างกรดยูริกมากเกินไปหรือไตขับยูริกได้น้อยลง กรดยูริกก็จะตกผลึกตามข้อ ผนังหลอดเลือด ไตและอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดอาการปวดข้อและโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้

โรคเกาต์เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ คนที่เป็นโรคเกาต์นอกจากได้รับการถ่ายทอดโรคนี้จากพ่อแม่แล้ว ยังสามารถถ่ายทอดความผิดปกตินี้ไปยังลูกหลานได้อีกด้วย

โรคเกาต์เกิดจากผลึกของกรดยูริกบริเวณข้อ

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคเกาต์

ผู้ที่มีกรดยูริกในเลือดสูง (ค่าปกติควรจะอยู่ระหว่าง 3~7 มิลลิกรัมต่อเลือด100 มิลลิลิตร) ในระยะแรกหรือระดับกรดยูริกที่สูงเกินไม่มากอาจไม่มีความผิดปกติให้เห็นชัดเจน จะทราบว่าเป็นโรคเกาต์ได้ก็ต่อเมื่อมีการตรวจเลือดเท่านั้น แต่ต่อมาจะค่อยๆ ปรากฏอาการให้เห็น อาการที่พบบ่อยมีดังนี้

  • ปวดข้อรุนแรงอย่างเฉียบพลัน ถ้าเป็นการปวดครั้งแรก มักจะปวดข้อเดียวข้อที่พบบ่อยคือ นิ้วหัวแม่เท้าข้างใดข้างหนึ่ง บางรายก็อาจจะปวดที่ข้อเข่า ข้อจะบวมและเจ็บมากจนทนไม่ไหว ผิวหนังบริเวณที่ปวดจะตึง ร้อนและแดง เมื่ออาการเริ่มทุเลาผิวหนังบริเวณนั้นก็จะลอกและคัน
  • มักจะเริ่มปวดตอนกลางคืนหรือมีอาการกำเริบหลังดื่มเหล้า ดื่มเบียร์หรือหลังกินเลี้ยงหรือกินอาหารมากเกินปกติ
  • อาจมีไข้ หนาวสั่น ใจสั่น อ่อนเพลียหรือเบื่ออาหารร่วมด้วย หากเป็นการปวดครั้งแรก ก็มักจะปวดเพียงไม่กี่วัน แม้จะไม่ได้ทานยาก็จะค่อยๆ หายไปได้เอง แต่ถ้าไม่ได้รักษาในระยะแรก อาการจะกำเริบถี่ขึ้นเรื่อยๆ ส่วนข้อที่ปวดก็จะเพิ่มจากข้อเดียวจนเป็นเกือบทุกข้อในที่สุด

โรคและอาการแทรกซ้อนของโรคเกาต์มีอะไรบ้าง

  • ข้อพิการ ผลึกของกรดยูริกที่ไปสะสมตามข้อนั้น นอกจากจะทำให้ปวดข้อแล้ว ข้ออาจพิการจนใช้งานไม่ได้ในที่สุด
  • นิ่วในไต เมื่อมีผลึกของกรดยูริกไปสะสมที่ไต อาจทำให้ไตพิการได้ ประมาณ 25% ของผู้ป่วยโรคเกาต์จะเสียชีวิตด้วยโรคไตวาย
  • นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ประมาณ 25% ของผู้ป่วยโรคเกาต์เป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งจะทำให้มีการติดเชื้อและอักเสบที่ทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากและกรวยไตด้วย
  • กระดูกพรุน กรดยูริกที่สูงขึ้นจะทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะความเป็นกรด ส่งผลให้กระดูกดูดซึมแคลเซียมได้ยากขึ้นและเกิดภาวะกระดูกพรุน ทั้งๆ ที่ผู้ป่วยมีการเสริมแคลเซียมเป็นประจำแล้วก็ตาม
  • เสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาตได้มากขึ้น

โรคเกาต์มักจะอยู่คู่กับโรคอะไร

โรคเกาต์มักจะอยู่คู่กับโรคเรื้อรังอีกหลายๆ อย่าง ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจะมีกรดยูริกในเลือดสูงเกินไปด้วย และผู้ป่วยโรคเกาต์ที่เป็นเบาหวาน โรคระบบหลอดเลือดและหัวใจ ความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูงจะเป็น 26%, 28%, 63% และ 84% ตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจาก

  • โรคเรื้อรังดังกล่าวจะทำให้เกิดความผิดปกติต่อกระบวนการใช้และการขับสารเพียวรีน เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีระดับไตรกลีเซอไรด์ที่สูงเกินไป ซึ่งจะไปยับยั้งกระบวนการขับกรดยูริกด้วย ร่างกายจึงไม่สามารถรักษาดุลยภาพของกรดยูริก
  • โรคเรื้อรังเหล่านี้จะทำให้ไตเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว ไตจึงไม่สามารถขับกรดยูริกออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรดยูริกก็จะคั่งอยู่ในร่างกายมากเกินไปจนเป็นพิษ
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ยาขับปัสสาวะที่ใช้ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง แอสไพรินที่ใช้ในผู้ป่วยโรคระบบหลอดเลือดและหัวใจ เป็นต้น จะยับยั้งการขับยูริกออกจากร่างกายและทำให้ไตเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว ผลที่ตามมาคือ การขับกรดยูริกที่น้อยลงด้วย จึงเพิ่มความรุนแรงของโรคเกาต์ เช่น ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ที่ไม่ได้ทานยาขับปัสสาวะเพื่อลดความดัน มีเพียง 25% ที่มีกรดยูริกสูงกว่าปกติ แต่พอทานยาแล้ว ก็มีโอกาสเป็นโรคเกาต์เพิ่มขึ้นเป็น 40-50% เป็นต้น

การรักษาโรคเกาต์ด้วยยาลดอักเสบมีข้อจำกัดอย่างไร

การรักษาโรคเกาต์ด้วยยาลดอักเสบ เช่น คอลซิซีน (Colchicine) หรือยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ (NSAIDs) เป็นต้น อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย เนื่องจากเป็นเพียงการบรรเทาอาการปวดและอักเสบชั่วคราวเท่านั้น แต่มิได้หยุดยั้งการลุกลามของโรค ที่สำคัญคือ พิษของยาจะก่อให้เกิดการระคายเคืองของกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารไม่ย่อยและเลือดออกในกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้ป่วยที่ใช้คอลซิซีนมักจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน และพิษของยายังอาจยับยั้งการทำงานของไขกระดูก ตับ ไตและทางเดินหายใจด้วย

วิธีการรักษาโรคเกาต์แบบองค์รวมตามหลักการแพทย์จีน

การแพทย์จีนได้จัดโรคเกาต์ ให้อยู่ในกลุ่มโรคที่เกิดจากเส้นลมปราณติดขัด (痹病) เนื่องจากพิษของลมและร้อน-ชื้น (湿热) ที่สะสมในร่างกาย มีการแทรกเข้าไปบริเวณข้อและเส้นลมปราณที่หล่อเลี้ยงข้อต่อ ทำให้เส้นลมปราณติดขัด เมื่อเส้นลมปราณไม่โล่งก็จะเกิดอาการปวดขึ้นมา ซึ่งสอดคล้องกับหลักการวินิจฉัยและรักษา อันสำคัญของการแพทย์จีน ปวดแสดงว่าไม่โล่ง โล่งแล้วก็จะไม่ปวด (通则不痛, 痛则不通) ส่วนเลือดและพลังลมปราณที่คั่งอยู่ตามบริเวณข้อ ก็จะทำให้เกิดอาการตึง ร้อน บวมและแดง หากปล่อยไว้เรื้อรังเส้นลมปราณก็จะตีบตันในที่สุด ทำให้ข้อต่างๆ พิการจนใช้งานไม่ได้ การแพทย์จีนจึงนิยมใช้วิธีรักษาโรคเกาต์แบบองค์รวมดังนี้

  • ขจัดพิษของลมและร้อน-ชื้น ที่เป็นต้นเหตุสำคัญของโรคเกาต์ให้ออกจากร่างกาย เพื่อหยุดยั้งการลุกลามของโรค
  • สลายเลือดคั่งบริเวณข้อ กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ลดอาการอักเสบและอาการปวด จึงบรรเทาอาการตึง ร้อน บวมและแดง บริเวณข้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ช่วยขับปัสสาวะ เพื่อขับกรดยูริกออกจากร่างกายให้มากขึ้น

นอกจากนี้ การแพทย์จีนยังให้ความสำคัญในการปรับความสมดุลของร่างกาย เพื่อเพิ่มอัตราการหายของโรคเกาต์และบำบัดโรคเรื้อรังต่างๆ ที่พบบ่อยในผู้ป่วยโรคเกาต์ไปพร้อมๆ กัน

  • บำรุงไต เพื่อให้ไตสามารถขับกรดยูริกออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ร่างกายก็จะกลับมารักษาดุลภาพของกรดยูริกได้อีกครั้ง
  • ทำความสะอาดหลอดเลือดทั่วทั้งร่างกาย ละลายไขมันและสลายลิ่มเลือด ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ เพิ่มระดับ HDL โคเลสเตอรอลและลดระดับ LDL โคเลสเตอรอล จึงสามารถป้องกันและบำบัดโรคเรื้อรังต่างๆ ที่พบบ่อยในผู้ป่วยโรคเกาต์

อาการปวด ตึง บวม แดงและร้อนบริเวณข้อ รวมทั้งโรคแทรกซ้อนและผลกระทบต่อไตก็จะค่อยๆ ทุเลาลงและหายไปได้ในที่สุด

YouTube player
ปรึกษาแพทย์จีน
ปรึกษาแพทย์จีน
Scroll to Top