หน้าแรก  »  บทความสุขภาพ  »  โรคความดันโลหิตสูง: เกณฑ์ สาเหตุ อาการ การป้องกัน การรักษา

โรคความดันโลหิตสูง: เกณฑ์ สาเหตุ อาการ การป้องกัน การรักษา

โรคความดันโลหิตสูง: เกณฑ์ สาเหตุ อาการ การป้องกัน การรักษา

โรคความดันโลหิตสูงถูกขนานนามว่าเป็นมัจจุราชเงียบ เนื่องจากคนที่เป็นส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ แต่หากปล่อยไว้นานโดยไม่ได้รับการดูแลรักษา ก็จะทำให้เกิดเป็นโรคร้ายแรง และอาจนำไปสู่ความพิการหรือเสียชีวิตได้

YouTube player

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคเมื่อปี 2022 ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมากถึง 13 ล้านคน ซึ่งกว่า 7 ล้านคนไม่รู้ว่าตนเองป่วยเป็นโรคนี้

จากข้อมูลนี้ ทางที่ดี ทุกคนจึงควรตระหนักและเรียนรู้ข้อมูลของโรคความดันโลหิตสูงไว้ เพื่อที่จะได้สามารถระวังตัวและรับมือกับมันได้อย่างเหมาะสม โดยทางเอินเวย์ ในฐานะของผู้นำด้านนวัตกรรมสมุนไพรจีนสร้างเสริมสุขภาพ ก็ขออาสานำข้อมูลโรคความดันโลหิตสูงมาให้ดูกันแบบง่ายๆ ในบทความนี้เองค่ะ

โรคความดันโลหิตสูงคืออะไร

โรคความดันโลหิตสูง คือสภาวะที่กระแสเลือดมีแรงกระทำต่อผนังหลอดเลือดสูงผิดปกติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อร่างกาย เพราะแปลว่าหัวใจต้องทำงานหนักในการปั๊มเลือด และหลอดเลือดก็จะเกิดความเสียหายในระยะยาว

ตามหลักแล้ว ความดันโลหิตยิ่งสูงและยิ่งปล่อยไว้นาน ความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงต่างๆ ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต (เนื่องจากเส้นเลือดในไตเสียหาย) ฯลฯ

การตรวจวัดความดันโลหิต

การตรวจวัดความดันโลหิตจะต้องใช้เครื่องวัดความดัน ซึ่งจะมีอยู่ทั่วไปในสถานพยาบาล หรือบางคนที่ต้องการตรวจวัดความดันได้ด้วยตนเอง ก็อาจเลือกที่จะซื้อเครื่องวัดมาไว้ติดบ้านก็ได้เช่นกัน

เนื่องจากความดันของเรานั้นอาจสูงขึ้นชั่วคราวได้จากหลายปัจจัย การตรวจวัดความดันให้ได้ผลที่ถูกต้องแม่นยำ ผู้ตรวจจึงควรปฏิบัติตัวดังนี้

  • งดอาหารและเครื่องดื่ม 30 นาทีก่อนตรวจ
  • ปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนตรวจ
  • นั่งในท่าสบาย หลังพิงพนักเก้าอี้ 5 นาทีก่อนตรวจ รวมถึงขณะตรวจ
  • จัดท่านั่งให้เท้า 2 ข้างอยู่บนพื้น งดนั่งไขว่ห้างขณะตรวจ
  • วางแขนข้างที่ตรวจไว้บนโต๊ะในระดับหน้าอก ไม่กำมือ ไม่เกร็งมือหรือเกร็งแขน
  • ที่รัดแขนต้องไม่รัดจนเกินไป และต้องสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง ไม่สวมทับแขนเสื้อ
  • งดพูดคุยขณะตรวจ
  • ถ้าเป็นการตรวจเองที่บ้าน ให้ตรวจครั้งละอย่างน้อย 2 รอบ โดยเว้นช่วง 1-2 นาที

เกณฑ์ความดันโลหิตสูงคือเท่าไหร่

การวัดความดันโลหิตจะได้ตัวเลขออกมา 2 ค่า ซึ่งได้แก่

  • ค่าความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัวเต็มที่ (Systolic Blood Pressure, SBP) หรืออาจเรียกว่าค่าสูง ค่าตัวบน หรือค่าตัวหน้า มีหน่วยเป็นมิลลิเมตรปรอท (mmHg)
  • ค่าความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัวเต็มที่ (Diastolic Blood Pressure, DBP) หรืออาจเรียกว่าค่าต่ำ ค่าตัวล่าง หรือค่าตัวหลัง มีหน่วยเป็นมิลลิเมตรปรอท (mmHg)

โดยในการอ่านค่าความดัน เกณฑ์ความดันปกติและความดันสูงสำหรับผู้ใหญ่ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง อ้างอิงจากสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย ก็จะมีรายละเอียดดังนี้

เกณฑ์ความดันค่าความดันตัวบน (mmHg)เงื่อนไขค่าความดันตัวล่าง (mmHg)
ดี< 120และ< 80
ปกติ120-129และ/หรือ80-84
เริ่มสูง130-139และ/หรือ85-89
สูงระดับ 1140-159และ/หรือ90-99
สูงระดับ 2160-179และ/หรือ100-109
สูงระดับ 3≥ 180และ/หรือ≥ 110

ทั้งนี้ ในการวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูง แพทย์จะใช้ผลวัดความดันโลหิตในสถานพยาบาลเป็นหลัก ซึ่งก็อาจมีการวัดซ้ำ หรือใช้ข้อมูลปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือดร่วมด้วย เพื่อให้การวินิจฉัยมีความแม่นยำมากขึ้น เนื่องจากผลวัดความดันโลหิตนั้นอาจคลาดเคลื่อนได้จากปัจจัยต่างๆ

ความดันโลหิตสูงมีอาการอะไรบ้าง

แม้บางคนที่มีความดันโลหิตสูง จะมีอาการเฉียบพลันอย่างเช่น ปวดหัว เวียนหัว เลือดกำเดาไหล หายใจไม่เต็มอิ่ม ฯลฯ แต่ในคนส่วนใหญ่นั้นก็จะไม่ได้มีอาการผิดปกติใดๆ ชัดเจน ด้วยเหตุนี้ การหมั่นตรวจวัดความดันอย่างสม่ำเสมอ จึงถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเฝ้าระวังและรับมือกับโรคความดันโลหิตสูง ก่อนที่จะเกิดเป็นโรคร้ายแรงอื่นๆ ตามมา อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต เป็นต้น

โรคความดันโลหิตสูงเกิดจากสาเหตุอะไร

โรคความดันโลหิตสูงมีสาเหตุและกลไกการเกิดที่ซับซ้อน มักไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเกิดจากสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ข้อมูลปัจจุบันก็ได้พบปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงมากขึ้น ตัวอย่างเช่น

ปัจจัยเสี่ยงทั่วไป

  • อายุมากกว่า 65 ปี
  • มีญาติสายตรงเป็นโรคความดันโลหิตสูง
  • น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์
  • ได้รับโซเดียมจากอาหารมากเกินควร
  • รับประทานผักและผลไม้น้อย
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินควร
  • ดื่มกาแฟและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอื่นมากเกินควร
  • สูบบุหรี่
  • นอนหลับไม่เพียงพอ

โรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง

  • โรคเบาหวาน
  • โรคไต
  • โรคหยุดหายใจขณะหลับ
  • โรคแพ้ภูมิตัวเอง
  • ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์

ยาที่เป็นปัจจัยเสี่ยง

  • ยาคุมกำเนิด
  • ยากลุ่มสเตียรอยด์
  • ยาต้านอักเสบกลุ่ม NSAIDs

มีการประมาณการไว้ว่า ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเกิดจากโรคอื่นหรือการใช้ยา จะมีจำนวนเพียงแค่ 1 ใน 20 รายเท่านั้น ปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคความดันโลหิตสูง จึงมักจะเป็นปัจจัยในด้านการใช้ชีวิต ซึ่งก็ควรได้รับการดูแลปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม

วิธีป้องกันโรคความดันโลหิตสูง

วิธีป้องกันโรคความดันโลหิตสูงจะมีแนวทางดังนี้

  • จำกัดอาหารและเครื่องปรุงที่มีโซเดียมสูง อย่างเช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว ผงปรุงรส ซอสปรุงรส อาหารแปรรูป อาหารหมักดอง อาหารรสเค็ม อาหารรสจัด ฯลฯ
  • รับประทานผักผลไม้รวมกันให้ได้อย่างน้อยวันละ 5 ส่วน ซึ่งถ้าจะให้ดี ก็แนะนำให้แบ่งเป็นผักอย่างน้อยวันละ 3 ส่วน และผลไม้อย่างน้อยวันละ 2 ส่วน (1 ส่วน คือประมาณ 80 กรัม หรือ 1 จานรองกาแฟ)
  • จำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ ฯลฯ แนะนำให้ดื่มไม่เกินวันละ 2 ดื่มมาตรฐาน สำหรับผู้ชาย และ 1 ดื่มมาตรฐาน สำหรับผู้หญิง (1 ดื่มมาตรฐาน ก็อย่างเช่น เบียร์ 355 มิลลิลิตร ไวน์ 148 มิลลิลิตร หรือเหล้า 44 มิลลิลิตร ซึ่งปริมาณเหล่านี้จะแปรผันตามความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่ม)
  • จำกัดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ฯลฯ แนะนำให้ได้รับคาเฟอีนไม่เกินวันละ 400 มิลลิกรัม หรือเทียบเป็นกาแฟได้ประมาณ 4 แก้ว
  • ดูแลน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ โดยดูได้จากค่า BMI (หารน้ำหนักตัวด้วยส่วนสูงในหน่วยเมตร 2 ครั้ง) ซึ่งก็ควรน้อยกว่า 23 กิโลกรัม/เมตร2 ยกเว้นในผู้ที่มีกล้ามเนื้อเยอะ อย่างเช่น นักกีฬาหรือนักกล้าม ที่ไม่สามารถใช้เกณฑ์นี้ได้ เพราะน้ำหนักตัวของคนกลุ่มนี้จะมาจากกล้ามเนื้อเป็นส่วนใหญ่
  • ออกกำลังกายประเภทแอโรบิคอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที เช่น เดินเร็ว วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ ฯลฯ
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งผู้ใหญ่ทั่วไปก็ควรนอนหลับอย่างน้อยวันละ 7 ชั่วโมง
  • งดสูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่นั้นมีสารพิษที่ส่งผลกระตุ้นหัวใจและสร้างความเสียหายแก่หลอดเลือด

การรักษาโรคความดันโลหิตสูง

การรักษาโรคความดันโลหิตสูง หลักๆ แล้วจะมีอยู่ 2 วิธี ซึ่งก็ได้แก่

  1. ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต
  2. ใช้ยาลดความดัน

โดยทั่วไปแล้ว หากความดันโลหิตไม่ได้สูงจนเกินไป และไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ในด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดร่วมด้วย แพทย์ก็มักจะรักษาโดยให้ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต เช่น ปรับการรับประทานอาหาร ออกกำลังกายมากขึ้น เลิกบุหรี่ ฯลฯ

แต่ถ้าความดันโลหิตอยู่ในระดับที่สูงมาก หรือมีปัจจัยเสี่ยงในด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดร่วมด้วย แพทย์ก็มักจะใช้ทั้ง 2 วิธีร่วมกัน เพื่อให้การรักษานั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การรักษาโรคความดันโลหิตสูงในทัศนะการแพทย์จีน

การแพทย์จีนนิยมใช้วิธีบำบัดแบบองค์รวมและปรับสมดุลร่างกาย ผ่านตำรับยาที่สกัดจากพืชสมุนไพรธรรมชาติหลายชนิด เพื่อดูแลแก้ไขปัญหาความดันโลหิตสูงที่ต้นเหตุ ซึ่งก็จะมีหลักการทำงานดังนี้

  • ทำความสะอาดหลอดเลือด สลายลิ่มเลือดและไขมัน ทำให้หลอดเลือดโล่งสะอาด จึงช่วยป้องกันและบำบัดโรคที่พบบ่อยในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต ฯลฯ
  • บำรุงไต ให้หยิน-หยางในไตเกิดความสมดุล ไตจึงสามารถส่งหยินไปหล่อเลี้ยงตับได้อย่างเพียงพอ ช่วยป้องกันไม่ให้ตับร้อนรุ่มจนเกินไป ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของความดันสูง เมื่อตับอยู่ในสภาวะสมดุลก็จะมีการสร้างคอเลสเตอรอลในปริมาณที่เหมาะสม และในขณะเดียวกันเมื่อไตแข็งแรงขึ้น พลังชี่ที่เป็นแรงผลักดันของเลือดก็จะสมบูรณ์ขึ้น ระบบการไหลเวียนของเลือดจึงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ท่านที่สนใจดูแลความดันและสุขภาพหลอดเลือดตามทัศนะการแพทย์จีน ก็สามารถขอรับคำปรึกษาจากแพทย์แผนจีนและผู้เชี่ยวชาญได้ที่ไอดีไลน์ @enwei

จบแล้วกับข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูง ทั้งเกณฑ์ การตรวจวัด สาเหตุ อาการ วิธีป้องกัน และวิธีรักษา ทางเอินเวย์หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านนะคะ

เอินเวย์ ศูนย์รวมยาสมุนไพรจีนระดับพรีเมี่ยมจากประเทศจีน ซึ่งอยู่เคียงข้างสังคมไทยมานานกว่า 30 ปี ขอเป็นอีกหนึ่งทางเลือกธรรมชาติในการดูแลสุขภาพตามศาสตร์การแพทย์จีน เพื่อให้ทุกท่านได้มีสุขภาพที่ดี

ปรึกษาแพทย์จีน
ปรึกษาแพทย์จีน
Scroll to Top