หน้าแรก  »  บทความสุขภาพ  »  เช็กอาการเตือน ขาดธาตุเหล็ก เร่งดูแลก่อนจะเกิดเป็นโรคร้าย

เช็กอาการเตือน ขาดธาตุเหล็ก เร่งดูแลก่อนจะเกิดเป็นโรคร้าย

เช็กอาการเตือน ขาดธาตุเหล็ก เร่งดูแลก่อนจะเกิดเป็นโรคร้าย

ภาวะขาดธาตุเหล็กเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่หลายคนคิด โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิง หากละเลยก็จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ทั้งยังอาจนำไปสู่โรคร้ายได้อีกด้วย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความตระหนักและช่วยบรรเทาปัญหาการขาดธาตุเหล็ก ทางเอินเวย์ก็ขออาสานำข้อมูลมาให้ชมกันแบบง่ายๆ ในบทความนี้เองค่ะ

ขาดธาตุเหล็กเป็นโรคอะไรได้บ้าง

ธาตุเหล็กเป็นสารอาหารที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับอย่างสม่ำเสมอ เพราะจะถูกใช้ในการสร้างเม็ดเลือดแดง ซึ่งมีหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ

เมื่อร่างกายขาดธาตุเหล็กก็จะทำให้ไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดแดงได้อย่างเพียงพอ ส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจาง โดยจะมีผลกระทบต่อร่างกายหลายๆ ด้าน เช่น ภูมิคุ้มกัน สมอง กล้ามเนื้อ ฯลฯ

ในระยะยาว ภาวะโลหิตจางก็ยังก่อให้เกิดภาวะหัวใจโตหรือหัวใจล้มเหลว ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้อีกด้วย เนื่องจากหัวใจจะต้องทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง เพื่อชดเชยปริมาณออกซิเจนในเลือดที่ลดลง

อาการของภาวะขาดธาตุเหล็ก

นอกจากจะเป็นส่วนประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดงแล้ว ธาตุเหล็กก็ยังถูกใช้ในการสร้างฮอร์โมนและสารสื่อประสาทบางชนิดอีกด้วย การขาดธาตุเหล็กแม้จะยังไม่เกิดภาวะโลหิตจาง จึงอาจมีความเกี่ยวข้องกับอาการผิดปกติต่างๆ อย่างเช่น

  • อ่อนเพลีย
  • เหนื่อยง่าย
  • สมรรถภาพทางกายลดลง
  • ขาดสมาธิ
  • หงุดหงิดง่าย
  • ปวดเรื้อรังตามกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เนื้อเยื่ออ่อน
  • มีอาการขาอยู่ไม่สุข อยากขยับขาบ่อยๆ อาจรู้สึกว่ามีอะไรไต่ขาในบางที
  • พัฒนาการทางสติปัญญาของทารกในครรภ์บกพร่องในกรณีที่แม่ขาดธาตุเหล็ก

ส่วนในผู้ที่ขาดธาตุเหล็กจนเกิดภาวะโลหิตจางนั้น ก็อาจมีบางอาการหนักขึ้น รวมถึงอาจมีอาการผิดปกติอื่นๆ เพิ่มเติม อย่างเช่น อารมณ์แปรปรวน ปวดหัว เวียนหัว ชามือชาเท้า ขี้หนาว มือเท้าเย็น เบื่ออาหาร ผิวซีด เล็บซีด เล็บเปราะ ผมร่วง หายใจไม่เต็มอิ่ม ใจสั่น เป็นต้น

YouTube player

ภาวะขาดธาตุเหล็กเกิดจากอะไร

การขาดธาตุเหล็กจะเกิดได้จากสาเหตุหลักๆ 3 อย่าง ได้แก่

  • ได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสร้างธาตุเหล็กได้เอง จึงจำเป็นต้องได้รับจากอาหาร ผู้ที่กินอาหารที่เป็นแหล่งของธาตุเหล็กน้อย หรือมีความต้องการธาตุเหล็กเพิ่มขึ้นจนไม่สมดุลกับที่กินอยู่ (เช่น ผู้หญิงที่มีประจำเดือน ผู้ที่ตั้งครรภ์ เป็นต้น) จึงอาจเกิดภาวะขาดธาตุเหล็กได้
  • มีปัญหาการดูดซึมธาตุเหล็ก นอกจากจะกินไม่พอแล้ว ผู้ที่มีปัญหาการดูดซึมธาตุเหล็ก เช่น ผู้ที่เป็นโรคเซลิแอค ผู้ที่ผ่าตัดกระเพาะอาหาร ฯลฯ ก็อาจเกิดภาวะขาดธาตุเหล็กได้เช่นกัน
  • มีการสูญเสียเลือด ธาตุเหล็กในร่างกายจะสูญเสียไปพร้อมกับเลือด ผู้ที่มีการสูญเสียเลือดในปริมาณมากจากสาเหตุต่างๆ เช่น ประจำเดือนมามาก เกิดบาดแผล มีพยาธิบางชนิด เสียเลือดจากการผ่าตัด ฯลฯ จึงมีโอกาสเกิดภาวะขาดธาตุเหล็กได้

วิธีรักษาภาวะขาดธาตุเหล็ก

การรักษาภาวะขาดธาตุเหล็ก แพทย์จะพิจารณาถึงความเหมาะสมของแต่ละคน ซึ่งแนวทางทั่วไปที่นิยมใช้ก็จะมีดังนี้

  • กินอาหารที่เป็นแหล่งของธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ไข่ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วดำ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ผักโขม คะน้า ตำลึง ฯลฯ โดยอาจเน้นกินอาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินซีร่วมด้วย เช่น ส้ม ส้มโอ ฝรั่ง มะละกอ กีวี สตรอเบอร์รี่ มะเขือเทศ บร็อคโคลี่ ฯลฯ เพราะจะช่วยเสริมการดูดซึมธาตุเหล็กที่มาจากอาหารจำพวกพืชได้ ในทางกลับกัน การจำกัดอาหารบางชนิดที่อาจมีผลรบกวนการดูดซึมธาตุเหล็ก เช่น ชา กาแฟ อาหารที่มีแคลเซียมสูง ฯลฯ ก็อาจมีส่วนช่วยได้เช่นกัน
  • กินยาเสริมธาตุเหล็ก วิธีนี้จะสะดวกกว่า แต่ก็อาจมีผลข้างเคียงทำให้ท้องผูก การใช้ยาเสริมธาตุเหล็กนั้นควรอยู่ภายใต้คำปรึกษาและการกำกับดูแลโดยแพทย์เท่านั้น เนื่องด้วยการได้รับธาตุเหล็กเกินก็อาจก่อให้เกิดอันตรายได้

จบแล้วกับประเด็นในด้านอาการขาดธาตุเหล็ก พร้อมด้วยข้อมูลสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทางเอินเวย์หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านนะคะ

เอินเวย์ ศูนย์รวมยาสมุนไพรจีนระดับพรีเมี่ยมจากประเทศจีน ซึ่งอยู่เคียงข้างสังคมไทยมานานกว่า 30 ปี ขอเป็นอีกหนึ่งทางเลือกธรรมชาติในการดูแลสุขภาพตามศาสตร์การแพทย์จีน เพื่อให้ทุกท่านได้มีสุขภาพที่ดี

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

Collatin

Collatin

การไหลเวียนเลือด // ระบบภูมิคุ้มกัน

ปรึกษาแพทย์จีน
ปรึกษาแพทย์จีน
Scroll to Top