หน้าแรก  »  บทความสุขภาพ  »  ป้องกัน รักษาอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหลอดเลือดสมองตีบตันแตก

ป้องกัน รักษาอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหลอดเลือดสมองตีบตันแตก

การป้องกันอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหลอดเลือดสมองตีบ เส้นเลือดในสมองแตก

อัมพฤกษ์ อัมพาต ที่คนไทยเราเรียกกันติดปากนั้น จริงๆ แล้วก็คืออาการที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมองตีบ เส้นเลือดในสมองแตก ตัน หรือสมองขาดเลือด ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะพิการและเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 3 รองจากโรคหัวใจและโรคมะเร็ง โดยทุกๆ 14 นาทีจะมีคนเสียชีวิตจากโรคนี้ 1 คน คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่า อัมพฤกษ์ อัมพาต จะเกิดขึ้นได้เฉพาะในผู้สูงอายุเท่านั้น แต่หารู้ไม่ ในปัจจุบันเราสามารถพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปีมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดจนผู้ป่วยที่ยังอยู่ในช่วงวัยรุ่นก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งนี้เนื่องจากสภาพสังคมและวิถีชีวิตที่แปรเปลี่ยนไป ดังนั้น ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปควรพึงระวังว่าอาจมีปัญหาสุขภาพของหลอดเลือดและความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการ ตีบ ตันและแตก ของหลอดเลือดหรือเส้นเลือดในสมองด้วย

โรคหลอดเลือดสมองมีชนิดใดบ้าง

  • หลอดเลือดสมองตีบ เกิดจากหลอดเลือดแดงที่สมองมีอาการแข็งและตีบ ซึ่งจะค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อย และในที่สุดหากมีลิ่มเลือดมาอุดตันหลอดเลือด ก็จะทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือด หลอดเลือดสมองตีบพบบ่อยในผู้สูงอายุ เนื่องจากคนกลุ่มนี้มักจะมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งจากไขมันเกาะตามผนังหลอดเลือด และเป็นโรคแทรกซ้อนที่พบบ่อยในผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง เบาหวานและไขมันในเลือดสูง สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าหรือน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน จะมีโอกาสเกิดภาวะนี้ได้ก่อนวัยอันควร เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้มักมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งเร็วกว่าปกติ นอกจากนี้ ผู้ที่มีญาติพี่น้องเป็นอัมพาตก็จะมีความเสี่ยงต่อโรคนี้มากขึ้น
  • หลอดเลือดสมองอุดตัน เกิดจากลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในหลอดเลือดส่วนอื่นของร่างกาย ซึ่งมักจะมาจากลิ่มเลือดที่หัวใจ หลุดลอยตามกระแสเลือดและมาอุดตันหลอดเลือดสมอง ทำให้เซลล์สมองตายเพราะขาดเลือด หลอดเลือดสมองอุดตันจึงมักจะพบในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
  • หลอดเลือดสมองแตกหรือเส้นเลือดในสมองแตก เกิดจากหลอดเลือดที่เปราะบางแตกออกทำให้เนื้อสมองโดยรอบตาย ซึ่งเป็นอันตรายที่ร้ายแรงอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว หลอดเลือดสมองแตกมักเกิดจากโรคความดันโลหิตสูง

อัมพฤกษ์ อัมพาตต่างกันอย่างไร

อัมพฤกษ์ คือ อาการอ่อนแรงแต่ผู้ป่วยยังคงพอขยับร่างกายส่วนนั้นได้บ้าง ส่วนอัมพาต คือ อาการอ่อนแรงจนไม่สามารถขยับเขยื้อนร่างกายได้เลย อัมพฤกษ์เป็นเสมือนสัญญาณเตือนภัยก่อนที่จะเป็นอัมพาตภายใน 6-12 เดือน เรามักจะเข้าใจว่าอัมพฤกษ์ อัมพาตนั้นจะต้องมีอาการอ่อนแรงเสมอ แต่จริงๆ แล้วอาการชาหรือมีความรู้สึกน้อยลงครึ่งซีก ทั้งในแง่ของการรับรู้ สัมผัส ความเจ็บปวด ความรู้สึกร้อนหรือเย็น ล้วนเกิดจากโรคหลอดเลือดสมองทั้งสิ้น

7 สัญญาณอันตรายก่อนเป็นอัมพาต

ถึงแม้ว่าอัมพาตจะเกิดขึ้นฉับพลันจนเรียกว่าเป็น ลมอัมพาต หรือ โรคลมปัจจุบัน ก็ตาม แต่ใช่ว่าร่างกายจะไม่ส่งสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าให้เรารู้สักนิด หากเราใส่ใจและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะสามารถลดโอกาสเป็นอัมพาตได้อย่างมีประสิทธิภาพ 7 สัญญาณอันตรายต่อไปนี้มักจะเกิดขึ้นก่อนเป็นอัมพาต

  • ไม่มีแรงหรือชาอย่างเฉียบพลันที่ใบหน้า แขนหรือขาซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย มือหยิบของแล้วร่วงตก อาการมักเกิดขึ้นชั่วขณะและหายเองได้ภายในเวลา 24 ชั่วโมง
  • ตามัวหรือมองไม่เห็นอย่างเฉียบพลัน โดยเฉพาะถ้าเป็นกับตาข้างเดียว
  • อยู่ๆ ลิ้นแข็งหรือชา ทำให้พูดไม่ชัดหรือพูดลำบาก แต่สามารถกลับสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว
  • วิงเวียนศีรษะบ่อย บางทีเป็นลมล้มลง แต่สามารถรู้สึกตัวได้อย่างรวดเร็ว
  • ความจำเสื่อมลงอย่างเห็นได้ชัด
  • นึกอะไรช้าลง สับสน ขาดสมาธิ สมรรถภาพการทำงานลดลงอย่างไร้เหตุผล
  • อยู่ๆ ปวดศีรษะรุนแรงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

สาเหตุอัมพฤกษ์ อัมพาตในทัศนะการแพทย์จีน

อัมพาต มักจะเกิดจากความผิดปกติของสมองเพียงซีกใดซีกหนึ่ง ซึ่งจะทำให้แขนขาซีกที่ตรงกันข้าม เป็นอัมพาต เช่น ถ้าเป็นอัมพาตซีกขวา ก็แสดงว่ามีความผิดปกติในสมองซีกซ้าย เป็นต้น

ความรุ่มร้อนในตับลอยตัวขึ้นไปกระทบที่ศีรษะ ( 肝阳上亢 )

ในตับและไตมีทั้งหยิน (ความเย็น) และหยาง (ความร้อน) ปกติไตจะส่งหยินในไตไปหล่อเลี้ยงตับเพื่อมิให้ตับรุ่มร้อนเกินไป ถ้าหากว่าไตอ่อนแอลงไม่ว่าจะเกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้นหรือพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่ไม่ถูกสุขลักษณะก็ตาม ไตจะไม่สามารถส่งหยินไปหล่อเลี้ยงตับได้อย่างเพียงพอ หยางในตับจึงมากเกินไปทำให้ความรุ่มร้อนในตับลอยตัวขึ้นไปกระทบที่ศีรษะ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของอัมพฤกษ์และอัมพาต ส่วนอารมณ์ที่ตึงเครียด ตื่นเต้นหรือคิดมากเป็นประจำ ก็จะทำให้เกิดหรือเพิ่มความรุนแรงของภาวะหยางในตับได้เช่นกัน ผู้ที่มีภาวะหยางในตับมากเกินไปมักจะมีอาการหลายอย่าง เช่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หูอื้อ ตาลาย หน้าแดง ปากขม อารมณ์หงุดหงิด โมโหง่าย ขี้หลงขี้ลืม อุจจาระแข็งหรือท้องผูก ลิ้นแดง ฝ้าบนลิ้นเหลือง แขนขาเหน็บชา ลิ้นแข็งหรือพูดอ้อแอ้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ภาวะหยางในตับมากเกินไปยังทำให้ตับขาดความสมดุลและสร้างโคเลสเตอรอลมากเกินความจำเป็น ส่งผลให้โคเลสเตอรอลในเลือดสูงเกินไป ทั้งๆ ที่มีการควบคุมอาหารและออกกำลังกายแล้วก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากโคเลสเตอรอลในร่างกาย 80% ขึ้นไปสร้างขึ้นมาจากตับ ภาวะเช่นนี้จะเร่งให้หลอดเลือดแดงแข็งและตีบมากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤกษ์และอัมพาต

ภาวะเลือดเหนียวหนืดและจับตัวเป็นก้อนจากพลังชี่พร่อง

ระบบการไหลเวียนของเลือดต้องอาศัยพลังชี่ (气) จากไตเป็นแรงผลักดัน เมื่อไตอ่อนแอลงพลังชี่ก็จะพร่องไปด้วย ทำให้พลังชี่และเลือดไหลเวียนช้าลง ส่งผลให้เกิดการคั่งของพลังและเลือด เลือดจึงเหนียวหนืดและจับตัวเป็นก้อนไปกีดขวางทางเดินของเลือด ส่วนภาวะหยางในตับมากเกินไปก็จะเพิ่มความรุนแรงและเร่งให้เลือดจับตัวเป็นก้อน และน้ำในร่างกายกลายเป็นของเหลวข้นได้เร็วขึ้นและมากขึ้น (เช่น เสมหะ เป็นต้น) เมื่อตับมีความรุ่มร้อนมากๆ ก็จะเกิดลมในตับ (肝风) นำพาลิ่มเลือดหรือเสมหะขึ้นสู่ศีรษะ ทำให้เส้นลมปราณและหลอดเลือดอุดตันจนกลายเป็นอัมพาตได้ เราจึงมักจะพบผู้ป่วยอัมพาต นอกจากหมดสติ ตาและปากบิดเบี้ยวแล้ว ยังพบว่ามีเสมหะอยู่ในลำคอเป็นจำนวนมาก

วิธีการบำบัดแบบองค์รวมของการแพทย์จีน

เนื่องจาก อัมพฤกษ์ อัมพาต เกิดจากสาเหตุหลายประการ การแพทย์จีนจึงเน้นวิธีการบำบัดแบบองค์รวม เพื่อขจัดต้นเหตุและอาการต่างๆ ไปพร้อมๆ กันดังนี้

  • ทำความสะอาดและทะลวงหลอดเลือด สลายลิ่มเลือดและไขมัน ทำให้หลอดเลือดโล่งสะอาดเพื่อป้องกันและบำบัดโรคต่างๆ ที่เป็นต้นเหตุของอัมพฤกษ์ อัมพาต เช่น ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
  • บำรุงไต เพื่อให้หยิน-หยางในไตเกิดความสมดุล ไตจึงสามารถส่งหยินในไตไปหล่อเลี้ยงตับได้อย่างเพียงพอ เพื่อขจัดปัญหาภาวะหยางในตับมีมากเกินไป ซึ่งเป็นต้นเหตุของสำคัญของอัมพฤกษ์ อัมพาต เมื่อตับกลับสู่ภาวะสมดุลก็จะมีการสร้างโคเลสเตอรอลในปริมาณที่เหมาะสม ในขณะเดียวกัน เมื่อไตแข็งแรงขึ้นพลังชี่ซึ่งเป็นแรงผลักด้นของเลือดก็จะสมบูรณ์ขึ้น ระบบการไหลเวียนของเลือดจึงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อาการแขนขาอ่อนแรง ลิ้นชา พูดไม่ชัด ตามัว กลืนอาหารลำบาก เดินเซเหมือนคนเมาเหล้าหรืออาการอื่นๆ ที่เกิดจากอัมพฤกษ์ อัมพาต จึงค่อยๆ ทุเลาลงหรืออาจหายไปในที่สุด

YouTube player
YouTube player
YouTube player
ปรึกษาแพทย์จีน
ปรึกษาแพทย์จีน
Scroll to Top