ตับเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งในร่างกาย อยู่ใต้ชายโครงด้านขวา เป็นเสมือนโรงงานเคมีของร่างกาย ทำหน้าที่สำคัญหลายอย่าง เช่น กักเก็บสารอาหาร สังเคราะห์โปรตีน โคเลสเตอรอลและวิตามิน ผลิตน้ำดีเพื่อย่อยอาหารประเภทไขมัน ควบคุมการสันดาปของฮอร์โมน ผลิตสารที่นำเกล็ดเลือดไปห้ามเลือดเมื่อผนังหลอดเลือดได้รับบาดเจ็บ และกำจัดสารพิษตกค้างในร่างกาย เป็นต้น ตับยังเป็นอวัยวะที่อึดมากๆ ถึงแม้ว่าตับเสียหายไปมากถึง 70% แล้วก็ตาม แต่คนเราก็ยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการทำงานของตับที่เหลือเพียง 30% เท่านั้น ผู้ป่วยโรคตับส่วนใหญ่จึงไม่มีอาการที่ชัดเจนและไม่แสดงความผิดปกติในผลเลือด แต่พอมีอาการหรือตรวจพบก็มักจะสายเกินไปเสียแล้ว
ไวรัสตับอักเสบบีใกล้ตัวกว่าที่คิด
ตับถูกทำลายได้จากหลายสาเหตุ เช่น การได้รับสารพิษ (สารเคมี ยา แอลกอฮอล์ ฯลฯ) การติดเชื้อหรือไวรัส เป็นต้น ซึ่งจะทำลายตับแบบเฉียบพลัน ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว และแบบเรื้อรังจะทำให้ตับแข็งและอาจกลายเป็นมะเร็งตับในที่สุด ส่วนไวรัสตับอักเสบที่ค้นพบในปัจจุบันมีหลายสายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดปัญหามากที่สุดคือ ไวรัสตับอักเสบบี เนื่องจากสามารถทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรังจนกลายเป็นตับแข็งและมะเร็งตับได้ ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี สูงมากๆ โดยมีผู้ที่เป็นพาหะแพร่เชื้อให้คนอื่นประมาณ 10% ถ้ารวมถึงผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วอาจสูงถึง 20-50% เลยทีเดียว ไวรัสตับอักเสบบี ถ่ายทอดในครอบครัวได้ ถ้ามีคนหนึ่งในครอบครัวเป็นแล้วไม่ป้องกันให้ดีอาจเป็นได้ทั้งครอบครัว
ไวรัสตับอักเสบบีติดต่อทางใด
ไวรัสตับอักเสบบี อยู่ในเลือดและอาจพบอยู่ในน้ำลาย น้ำตา น้ำนม ปัสสาวะ น้ำอสุจิและน้ำเมือกในช่องคลอด การติดต่อของไวรัสตับอักเสบบี ที่สำคัญมี 3 ทางด้วยกัน
- การติดต่อจากมารดาสู่ทารก เป็นหนทางที่ทำให้เกิดการติดต่อมากที่สุด และคนที่ติดเชื้อตั้งแต่คลอดจะมีความเสี่ยงต่อตับแข็งและมะเร็งตับมากขึ้น รวมทั้งอาจเสียชีวิตตอนอายุยังไม่มาก
- การติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คนที่มีเชื้ออยู่ในร่างกาย ไม่ว่ามีอาการหรือไม่ มีโอกาสแพร่เชื้อให้คู่นอนได้
- การติดต่อทางเลือดและอุปกรณ์ปนเปื้อนเลือด เช่น การให้เลือด การฉีดยา การฝังเข็ม การสักตามร่างกาย การเจาะหู การทำฟัน การฟอกไต การลองต่างหู การใช้แปรงสีฟันหรือมีดโกนร่วมกับผู้อื่น หรือการใช้เครื่องมือแพทย์ที่ปนเปื้อนเลือดของผู้ที่มีเชื้อไวรัสบี เป็นต้น
ไวรัสตับอักเสบบีมีอาการอย่างไร
ตับอักเสบไวรัสบีชนิดเฉียบพลัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน จุกแน่นชายโครงด้านขวา และต่อมาจะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองและปัสสาวะสีเข้ม ถึงแม้ว่า 90-95% ของผู้ป่วยตับอักเสบไวรัสบี ชนิดเฉียบพลันจะหายเป็นปกติก็ตาม แต่ก่อนที่จะหาย ในช่วงแรกอาจอักเสบรุนแรงถึงกับตับวายและเสียชีวิตได้ และประมาณ 5-10% จะกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง
ตับอักเสบไวรัสบีชนิดเรื้อรัง ซึ่งหมายถึงมีอาการอักเสบของตับนานเกินกว่า 6 เดือน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการ บางรายอาจมีอาการแค่อ่อนเพลีย ง่วงนอน เบื่ออาหาร ท้องอืดท้องเฟ้อ เครียดเรื้อรัง ส่วนใหญ่จะตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจร่างกายประจำปี อาการอักเสบของตับจะเป็นๆ หายๆ เนื่องจาก DNA ของไวรัสได้แทรกเข้าไปใน DNA ของเซลล์ตับ ตราบใดที่มีเซลล์ตับเกิดขึ้นใหม่ก็จะมีการขยายพันธุ์ของไวรัส จึงทำให้เซลล์ตับถูกทำลายมากขึ้นเรื่อยๆ จนเสี่ยงต่อตับแข็งและมะเร็งตับได้
ทั้งนี้ พาหะไวรัสตับอักเสบบีส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการใดๆ
พาหะไวรัสตับอักเสบบียังเป็นคนปกติแข็งแรงจริงหรือไม่
พาหะหรือ carrier ไวรัสบี หมายถึงผู้ที่มีไวรัสบี อยู่ในร่างกาย โดยที่ไม่มีอาการแสดงแต่สามารถแพร่เชื้อไวรัสให้แก่ผู้อื่น ในบ้านเราพบผู้ที่เป็นพาหะไวรัสบี ประมาณ 10% ด้วยเหตุที่ไม่แสดงอาการ ผู้ที่เป็นพาหะส่วนใหญ่จึงเข้าใจผิดว่าตนเองยังเป็นคนปกติแข็งแรง และละเลยการดูแลสุขภาพของตับ แต่หารู้ไม่ไวรัสบี ที่อยู่ในร่างกายนั้น เปรียบเสมือนระเบิดเวลาซึ่งพร้อมที่จะทำลายเซลล์ตับเมื่อร่างกายอ่อนแอ รวมทั้งอาจกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรังโดยที่ไม่มีอาการแจ้งเตือนล่วงหน้า ถึงแม้ว่าพาหะไวรัสบี มีผลการตรวจเลือดทดสอบการทำงานของตับที่ปกติก็ตาม แต่เมื่อมีการตรวจเพิ่มเติมด้วยการเจาะเนื้อตับออกมาพิสูจน์ ก็มักจะพบเนื้อตับถูกทำลายไปไม่มากก็น้อย ซึ่งจะเสี่ยงต่อการเป็นตับแข็งและมะเร็งตับได้ โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นพาหะที่อายุย่างเข้า 40-50 ปีและติดเชื้อจากมารดาตั้งแต่กำเนิด
ผู้ที่เป็นพาหะไวรัสบี จึงควรดูแลตับเป็นพิเศษ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด หลีกเลี่ยงถั่วลิสง โดยเฉพาะถั่วลิสงป่นที่ค้างนานๆ พริกแห้ง กระเทียม เต้าเจี้ยวและเต้าหู้ยี้ ห้ามดื่มเหล้า ออกกำลังกายได้แต่
อย่าหักโหม อย่างดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก งดบริจาคเลือด และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ที่สำคัญคือ ควรหมั่นตรวจเลือดดูเชื้อไวรัสและทดสอบการทำงานของตับ รวมทั้งตรวจสารแอลฟาฟีโตโปรตีนเพื่อค้นหามะเร็งตับระยะแรกเริ่มทุกๆ 3-6 เดือน ส่วนคนในครอบครัวเดียวกันควรได้รับการตรวจว่ามีภูมิคุ้มกันไวรัสบี หรือไม่ ถ้าไม่มีก็ควรฉีดวัคซีนป้องกันไม่ให้ติดด้วย
ไวรัสตับอักเสบบีกับมะเร็งตับสัมพันธ์กันอย่างไร
จากสถิติทางคลินิกในปัจจุบันพบว่ากว่า 80% ของผู้ป่วยมะเร็งตับเกิดจากไวรัสตับอักเสบบี ส่วนพาหะไวรัสบี จะมีความเสี่ยงต่อมะเร็งตับสูงกว่าคนทั่วไปมากถึง 223 เท่า เหตุไฉนจึงทำให้ตับอักเสบไวรัสบี กลายเป็นสาเหตุหลักๆ ของมะเร็งตับ?
จริงๆ แล้วไวรัสบี ในร่างกาย จะทำลายเซลล์ตับอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการอักเสบและการซ่อมแซมของเซลล์ตับอย่างซ้ำๆ ซากๆ นานวันเข้า พังผืดที่คล้ายปุ่มและแผลเป็นที่มีลักษณะแข็งกว่าที่เกิดจากการซ่อมแซมของเซลล์ตับนั้น ก็จะค่อยๆ แทนที่เซลล์ตับที่ปกติ ทำให้ตับแข็งและไม่สามารถทำงานได้ปกติ ตับแข็งจากระยะแรกเริ่มถึงระยะปลายใช้เวลาประมาณ 10~15 ปี ระยะนี้ผู้ป่วยจะไม่มีอาการเลยจนถึงวันที่ตับวายคืออีก 2~3 ปีก่อนจะเสียชีวิตจึงมีอาการ ซึ่งอย่างมากแค่เพลียๆ จุกๆ นิดหน่อย หากผู้ป่วยตับแข็งในระยะแรกเริ่มได้รับการรักษาเพื่อลดจำนวนไวรัสและชะลอการอักเสบของตับ ตับก็จะมีโอกาสสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทนส่วนที่เสียไป ภาวะตับแข็งก็จะพัฒนาช้าลง แต่ถ้าผู้ป่วยไม่รู้ตัวหรือไม่รักษาเลย เซลล์ตับที่เกิดขึ้นใหม่จะถูกไวรัสบี ทำลายอย่างต่อเนื่องและอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะของ DNA อย่างเฉียบพลัน จนกลายเป็นมะเร็งตับได้ในที่สุด ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันมะเร็งตับคือ ต้องรักษาตับอักเสบเสียแต่เนิ่นๆ
ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งตับมีอัตราการอยู่รอดต่ำคือ มะเร็งตับในระยะแรกที่สามารถรักษาให้หายได้นั้น ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการที่ชัดเจน ทั้งนี้เนื่องจากตับเป็นอวัยวะที่อึดมากๆ แม้ถึงขั้นมะเร็งระยะแรก ตับก็ยังคงทำงานได้เกือบปกติ อย่างมากก็มีแค่อาการที่คลุมเครือในผู้ป่วยบางคน เช่น เสียดท้องด้านขวา ปวดแน่นชายโครงเป็นบางครั้งหรืออารมณ์ฉุนเฉียว เป็นต้น แต่พอมีอาการที่ชัดเจนขึ้น เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร จุกเสียดแน่นท้อง น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว หรือปวดแน่นชายโครงด้านขวา เป็นต้น ก็ยากที่จะเยียวยาเพราะมะเร็งตับได้ลุกลามจนเกือบทั่วทั้งตับแล้ว ผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังและพาหะไวรัสบี จึงควรตรวจหาแอลฟาฟีโตโปรตีน เพื่อค้นหามะเร็งตับระยะแรกเริ่มทุกๆ 3-6 เดือน
ไวรัสตับอักเสบบีป้องกันได้อย่างไร
ถึงแม้ว่าผู้ติดเชื้อไวรัสบี ไม่จำเป็นต้องกลายเป็นตับอักเสบเสมอไปทุกราย เนื่องจากภูมิคุ้มกันของร่างกายอาจกำจัดได้ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยจะกลายเป็นพาหะหรือตับอักเสบเฉียบพลัน และในกลุ่มที่ตับอักเสบเฉียบพลันก็จะมีประมาณ 5-10% กลายเป็นตับอักเสบเรื้อรังในที่สุด ซึ่งล้วนเสี่ยงต่อการเป็นตับแข็งและมะเร็งตับ ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจต้องรักษาไปตลอดชีวิตและค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมากๆ แต่คุณรู้ไหมว่า เราสามารถป้องกันตับอักเสบไวรัสบีได้ เพียงแค่ไปตรวจเช็คที่โรงพยาบาลว่ามีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสบีหรือไม่ ถ้ายังไม่มี ก็ป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนเท่านั้น ซึ่งน่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดในชีวิต ปัจจุบันวัคซีนไวรัสบีได้ผลถึง 95% แต่สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสบีมาก่อน การฉีดวัคซีนจะไม่ได้ผลใดๆ ส่วนผู้ที่มีภูมิคุ้มกันแล้วก็ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนอีก แล้วคุณไปตรวจภูมิคุ้มกันต่อไวรัสบีมาแล้วหรือยัง
สาเหตุตับอักเสบในทัศนะการแพทย์จีน
การแพทย์จีนได้จัดตับอักเสบให้อยู่ในกลุ่มโรคของภาวะพลังชี่อั้นในตับ (肝郁气滞) ภาวะเลือดคั่งในตับ (血瘀症) ร่วมกับภาวะร้อน-ชื้นในตับ (肝脾湿热)
- ภาวะพลังชี่อั้นในตับ ในทัศนะการแพทย์จีน หนึ่งในหน้าที่สำคัญของตับคือ การระบายพลังชี่ให้กระจายไปสู่ทั่วทั้งร่างกาย (肝主疏泄) ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ตับและอวัยวะอื่นๆ ทำงานได้ปกติ แต่ความสามารถในการระบายพลังชี่ของตับจะค่อยๆ ลดลงเมื่ออายุย่างเข้า 30-35 ปี ซึ่งเป็นไปตามความเสื่อมของร่างกาย จึงส่งผลให้พลังชี่ถูกอั้นไว้ในตับ เลือดและพลังชี่ก็จะไหลเวียนไม่คล่องตัว ทำให้เส้นลมปราณตับสะดุดและติดขัด นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงในชีวิตประจำวัน ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่จะเร่งให้เกิด ภาวะพลังชี่อั้นในตับ เร็วขึ้นและรุนแรงขึ้น
- ภาวะเลือดคั่งในตับ เมื่อการไหลเวียนของเลือดกับพลังชี่สะดุดและติดขัดเป็นเวลานาน เลือดก็จะจับตัวเป็นลิ่มเป็นก้อน ทำให้เกิดความผิดปกติทั้งขนาด รูปร่างและการทำงานของหลอดเลือดในตับ เซลล์ตับจึงได้รับการหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอและส่งผลกระทบต่อกระบวนการสันดาปโภชนาหารของตับ สมรรถภาพการทำงานของตับจึงลดลงไปเรื่อยๆ
- ภาวะร้อน-ชื้นในตับ การระบายพลังชี่ของตับ มีผลต่อการทำงานของระบบการย่อยอาหาร ภาวะพลังชี่อั้นในตับจะทำให้ตับ กระเพาะอาหารและม้าม ทำงานไม่สัมพันธ์กัน ก่อให้เกิดการสะสมพิษร้อน-ชื้นในระบบการย่อยอาหาร ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำงานของตับ ตลอดจนการสร้างและการขับน้ำดี ทำให้เกิดอาการหลายอย่าง เช่น เบื่ออาหาร เบื่อของมัน ท้องอืดท้องเฟ้อ คล้ายอาหารไม่ย่อย เรอบ่อย ท้องร่วงหรือมีอุจจาระหยาบ ไม่จับตัวเป็นก้อน ปากขม ดีซ่าน เป็นต้น นอกจากนี้ พิษร้อน-ชื้นยังทำให้ภูมิคุ้มกันของตับต่ำลงและเกิดการอักเสบ พร้อมทั้งเอื้อต่อการรุกรานและการแพร่พันธุ์ของเชื้อไวรัสด้วย เซลล์ตับจึงถูกทำลายมากขึ้นเรื่อยๆ จนเสี่ยงต่อการเป็นตับแข็งและมะเร็งตับ
การแพทย์จีนป้องกันและบำบัดโรคตับอย่างไร
เป็นที่ทราบกันแล้วว่า ผู้ป่วยโรคตับส่วนใหญ่ไม่มีอาการชัดเจนและไม่แสดงความผิดปกติในผลเลือด แต่พอมีอาการหรือตรวจพบก็มักจะสายเกินแก้เสียแล้ว การแพทย์จีนจึงยึดมั่นในหลักการเสริมสร้างเพื่อป้องกันดีกว่ารักษาเพื่อบรรเทา ในการป้องกันและบำบัดโรคตับมาโดยตลอด พร้อมทั้งให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้ถูกสุขลักษณะด้วย
- เสริมสร้างเพื่อป้องกัน สำหรับผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปหรือมีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีความเครียดเป็นประจำ ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารเผ็ด มัน ชอบทานอาหารประเภทถั่วและของหมักดอง นอนดึก พักผ่อนไม่เพียงพอ การทำงานหามรุ่งหามค่ำ ทานยาแผนปัจจุบันเป็นประจำ ขาดการออกกำลังกาย มีโรคประจำตัว เป็นต้น การแพทย์จีนแนะนำควรบำรุงตับเป็นประจำ เพื่อให้ตับอยู่ในสภาพสมดุลอยู่เสมอ
- ตัดไฟแต่ต้นลม ถึงแม้โรคตับส่วนใหญ่ไม่มีอาการที่ชัดเจนในระยะแรกเริ่ม แต่ใช่ว่าร่างกายจะไม่ส่งสัญญาณเตือนใดๆ เลย
สัญญาณเตือนของโรคตับ
- เครียด ขี้หงุดหงิด ซึมเศร้า โมโหง่าย ตกใจง่าย
- รู้สึกมีอะไรมาจุกอยู่ที่คอหอย จะกลืนก็ไม่เข้า จะคายก็ไม่ออก
- ท้องอืดท้องเฟ้อ เรอบ่อย
- รู้สึกหายใจไม่เต็มท้อง ต้องถอนหายใจบ่อยๆ
- นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท ชอบหาวนอนหรือง่วงนอนตอนกลางวัน
- ผิวหน้าซีดเหลือง ไม่มีเลือดฝาดหรือมีฝ้าฮอร์โมนบนใบหน้า
- เส้นเลือดดำใต้ลิ้นเป็นสีเขียวคล้ำหรือสีม่วงคล้ำ หรือขอดใหญ่ขึ้นหรือ
- มีเส้นเลือดฝอยแตกแขนงมากขึ้น หรือใต้ลิ้นมีตุ่มสีเขียวคล้ำหรือสีดำคล้ำ
- ขอบลิ้นมีรอยกดทับของฟัน
- รู้สึกร้อนวูบวาบในช่องอก
- ประจำเดือนมาเป็นลิ่มเป็นก้อนหรือสีดำคล้ำ
เรามักจะไม่ใส่ใจสัญญาณเตือนดังกล่าว แต่หารู้ไม่ อาการเหล่านี้ล้วนเกิดจากภาวะพลังชี่อั้นในตับ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับ สำหรับผู้ที่มีสัญญาณเตือนของโรคตับ การแพทย์จีนนิยมใช้สมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณในการระบายพลังชี่ในตับให้กระจายทั่วทั้งร่างกาย เพื่อบำบัดโรคตับในระยะแรกเริ่ม และเปรียบเสมือนเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม
- รักษาเพื่อบรรเทา สำหรับกลุ่มที่เป็นพาหะและตับอักเสบเรื้อรัง การแพทย์จีนนิยมใช้สมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณในการขับพิษร้อน-ชื้น ร่วมกับการสลายเลือดคั่งในตับ เพื่อหยุดยั้งการลุกลามของโรคและช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพการทำงานของตับ
จากการวิจัยและทดลองทางการแพทย์และเภสัชวิทยาในปัจจุบันพบว่า ยาสมุนไพรจีนที่อยู่ในรูปแบบของสารสกัดเป็นรูปแบบที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด เนื่องจากสามารถสกัดและควบคุมสารออกฤทธิ์ได้อย่างเข้มข้นและแม่นยำ โดยมีกลไกออกฤทธิ์สำคัญดังนี้
- ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพการทำงานของตับ ลดระดับเอนไซม์ ALT และ AST ในตับ จึงบรรเทาอาการอักเสบ ส่งเสริมการฟื้นตัวและการซ่อมแซมของเซลล์ตับ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ลดภาวะความดันสูงในหลอดเลือดดำของตับ เพื่อหยุดยั้งภาวะม้ามโตหรือลดขนาดความหนาของม้ามที่โตขึ้น จึงช่วยชะลอหรือหยุดยั้งภาวะตับแข็งได้
- เสริมสร้างภูมิคุ้มกันของตับในการกำจัดไวรัสบี จึงสามารถกำจัด หยุดยั้งหรือลดการแบ่งตัวของไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อาการปวดแน่นชายโครงด้านขวา ท้องอืดท้องเฟ้อ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย และอาการอื่นๆ ที่เกิดจากตับอักเสบเรื้อรัง ก็จะค่อยๆ ทุเลาลง